วิธีหา keyword : 6 ขั้นตอนการทำ Keyword Research หาคำที่ใช่ ไม่ยากอย่างที่คิด

วิธีหา keyword

เมื่อเข้าใจความหมายและบริบทความสำคัญว่า Keyword คืออะไร และ ประเภทของ Keyword กันไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (ถ้ายังไม่เข้าใจ.. กลับไปอ่านก่อน) ก็มาถึงคิวของ วิธีหา Keyword หรือ การทำ Keyword Research กันแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกสุดของกลยุทธ์การทำ SEO และเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้กำหนดทิศทางของการทำเว็บไซต์ และ คอนเทนต์ทั้งหมด ที่จะนำเสนอออกมาบนเว็บไซต์ ให้มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของการสร้างเว็บ และ ง่ายต่อการค้นหาและทำอันดับบน Google

ย้ำอีกครั้ง !! ขั้นตอนนี้ควรให้ความสำคัญ หากเลือกผิดพลาด จะทำให้การทำ SEO หลงทิศหลงทาง เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา แถมได้ผลลัพธ์น้อย หรืออาจจะไม่ได้อะไรเป็นผลลัพธ์กลับมาเลยก็ได้

Keyword Research คืออะไร

Keyword Research คือ กระบวนการค้นหาและวิเคราะห์คำหรือวลีที่ผู้คนใช้ค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และเลือกใช้อย่างเหมาะสม พูดง่าย ๆ คือ ก่อนที่คุณจะทำเว็บ ทำคอนเทนต์ คุณต้องรู้ก่อนว่า คำหรือวลีไหน ที่คุณสามารถเอามาใช้ แล้วคนจะเข้าถึงเว็บไซต์คุณได้ มีประมาณการค้นหาเท่าไร ความยากง่ายในการแข่งขันเป็นอย่างไร โดยคุณสามารถหาคำเหล่านี้ได้ ผ่านการทำ Keyword Research โดยการวิเคราะห์ปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ปริมาณการค้นหา (Search Volume) : มีคนค้าหาเท่าไร
  • อัตราการแข่งขัน (Keyword Difficulty): มีคู่แข่งที่ใช้คำนี้มากน้อยแค่ไหน
  • คำค้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Related Keyword Suggestion) : คีย์เวิร์ดนั้น ๆ มีคำค้นอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถนำมาใช้ประกอบ หรือ ทดแทน ได้หรือไม่

การทำ Keyword Research เป็นประโยชน์ต่อการทำ SEO เป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้คนทำ SEO สามารถประเมินความสามารถในการแข่งขัน เวลา งบประมาณ เพื่อเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่เหมาะสมที่สุดได้

วิธีหา keyword

6 ขั้นตอน วิธีหา Keyword ที่ใช่สำหรับเว็บไซต์ของคุณ

ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดเป้าหมาย

อะไรคือสิ่งที่คุณพยายามต้องการจากการทำ Keyword Research?

  • ต้องเพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์จากผลการค้นหาแบบธรรมชาติ (Organic Search)
  • ต้องการเพิ่มจำนวนลูกค้า
  • ต้องการสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์

เมื่อคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ให้เอาเป้าหมายเหล่านี้มาปรับใช้กับการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดของคุณให้เหมาะสม คือ ใช้เป็นกรอบในการพิจารณาเลือกใช้คีย์เวิร์ด

ขั้นตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจตัวเอง(เว็บไซต์) และ กลุ่มเป้าหมาย (ลูกค้า)

การทำความเข้าใจตัวเองและลูกค้า ให้เริ่มจากการตั้งคำถา ด้วยการใช้เทคนิค 4W2H “ใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำไม อย่างไร เท่าไร“ ขอยกตัวอย่างตามนี้แล้วกัน

  • อะไร (What) : เว็บไซต์เราทำอะไร ขายหรือบริการอะไร “ครีมรักษาสิว” “ห้องพักเชียงใหม่”
  • ใคร (Who) : ลูกค้าเราเป็นใคร สนใจอะไร อยากจะแก้ปัญหาอะไร “คนเป็นสิว” “คนที่ชอบเที่ยวเขา”
  • จุดเด่น(Why) : เรามีจุดเด่นอะไร ทำไมต้องซื้อกับเรา “ ไม่มีสารเคมี” “ราคาถูก”
  • ขายที่ไหน (Where) : ที่ตั้งของร้าน หรือ รัศมีการขาย “กรุงเทพ” “เชียงใหม่”
  • ขายยังไง (How) : ขายผ่านช่องทางไหน หรือจะเข้าถึงเราอย่างไร “ecommerce” “online”
  • ราคาเท่าไร (How Much) : ราคาของสินค้าหรือบริการ “ 99 บาท” “ 499/คือ”

เมื่อคุณได้คำตอบแล้ว ให้พิจารณายึดจากขั้นตอนที่ 2 และ 1 แล้วเลือกคำที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็น “seed keyword” โดยคำที่นิยมเลือกใช้กันมักจะเป็นคำจำพวก ชื่อสินค้า ลักษณะสินค้า จุดเด่นสินค้า ประโยชน์ หรือ สิ่งที่ได้จากสินค้า เป็นต้น แนะนำให้เลือกมาอย่างน้อย 3 -5 คำ

( ทำความเข้าใจเรื่อง search intent ช่วยในการพิจารณาเลือก Keyword ให้ตอบโจทย์ได้มากขึ้น อ่าน : search intent << คลิก )

ขั้นตอนที่ 3 : ใช้ Keyword tools โปรแกรมค้นหาคีย์เวิร์ด

เมื่อได้ seed keyword มาแล้ว ให้เอาไปค้นหาใน Keyword Tools เช่น google keyword planner , Ubersuggest , KWFinder , Keyword Tool.io. (จะแนะนำ keyword tools ในบทความต่อ ๆ ไป) โดยประโยชน์ของโปรแกรมนี้ คือ มันจะให้ Keyword ideas ที่เกี่ยวข้องกับ seed keyword ของเราเป็นจำนวนมาก พร้อมด้วย Search Volume , Keyword Difficulty (KD) และข้อมูลอื่น ๆ ให้เราโหลดข้อมูลดิบเหล่านี้ออกมาเป็น Excel หรือ CSV เพื่อจะเอาไปคัดกรองหา Niche และ Long-tailed keyword ต่อไป

วิธีหา keyword

ขั้นตอนที่ 4 : นำข้อมูลดิบมาคัดกรองหา

ขั้นตอนก่อนนี้เราจะได้ข้อมูลดิบ ที่เป็นลิสต์คีย์เวิร์ดจำนวนมาก เราต้องเอาข้อมูลชุดนี้มากรองเพื่อหา คีย์เวิร์ดที่ “ปริมาณค้นหาสูง และคู่แข่งน้อย” ก่อน เมื่อหามาได้จำนวนหนึ่งแล้ว ให้พิจารณาเลือกคำที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของเรา เพื่อนำมาใช้เป็น Niche หรือ Long-Tailed ในเว็บไซต์ของเรา

การพิจารณาเลือกคีย์เวิร์ด ปกติผมจะใช้เทคนิคของการหา “ ค่าเฉลี่ย “ ทางคณิตศาสตร์ มาใช้นะ คือ เอาตัวเลขพวก  Search Volume , Keyword Difficulty (KD) มาหาค่าเฉลี่ยก่อน และจะเลือกคีย์เวิร์ด ที่มีปริมาณการค้นหาสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่อัตราการแข่งขันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มาใช้

ขั้นตอนที่ 5 : คัดกรองซ้ำด้วยคำ เพื่อหาคีย์เวิร์ดเพิ่มเติม

การกรองด้วยตัวเลข จากข้อ 4 บางครั้งเราก็พบว่า Keyword ที่ผ่านการกรองมาให้ใช้ได้นั้น มีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะ เพราะคีย์คือ “ปริมาณค้นหาสูง และคู่แข่งน้อย” มันค่อนข้างจะหายากและมีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราอยากได้คีย์เวิร์ดมาใช้เพิ่ม เราอาจเพิ่ม “การกรองด้วยคำ” มาใช้กรองอีกรอบก็ได้ โดยให้ทำตามนี้

  1. ให้ล้างการกรองด้วยตัวเลขก่อนนี้ให้หมดก่อน
  2. จากนั้นทำกันการกรองด้วยคำ โดยการเพิ่มคำที่น่าสนใจเข้าไปเช่น ซื้อ ขาย จอง รับ และอื่น ๆ แล้วคัดกรองใหม่
  3. แล้วเอามาเรียงลำดับคำที่มีอัตราการแข่งขันน้อย-มาก แล้วพิจารณาเลือกคำที่น่าสนใจมาใช้เพิ่ม

ขั้นตอนที่ 6 : ทำตารางคีย์เวิร์ด ที่เราเลือกมา และ นำไปใช้

หลังจากผ่านการคัดกรองจนได้ Keyword ที่เหมาะสมมาจำนวนหนึ่งแล้ว ให้นำ Keyword เหล่านี้มาทำเป็นตารางข้อมูลระบุข้อมูลเช่า ประเภทของ keyword หน้าเพจที่ใช้ และ อื่น ๆ เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการนำไปใช้สร้างคอนเทนต์ในอนาคตต่อไป

วิธีหา keyword

และนี่น่าจะเป็น วิธีหา Keyword หรือ ขั้นตอนการทำ Keyword Research ทั้งหมดแล้ว ที่คนทำ seo ทั่วไปเขาทำกัน ในส่วนของการใช้งาน Keyword tools ผมจะขอมาลงรายละเอียดกันในเนื้อหาต่อ ๆ ไปนะ มีหลายเจ้าให้เลือกใช้เลย จะเดี๋ยวอาจจะทำแยกออกเป็นแต่ละเจ้า หรือ แนะนำเฉพาะเจ้าที่คนนิยม ๆ ให้แล้วกันนะ


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่จ้า : Moz

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *