E-E-A-T Factor คืออะไร ทำความเข้าใจ แล้วไปทำคอนเทนต์ให้ปัง

E-E-A-T Factor

E-E-A-T Factor หรือปัจจัย EEAT คือ หัวใจหลักของการทำคอนเทนต์ เพื่อการทำ SEO ถ้าจะพูดกันแบบนี้ บอกเลยว่าไม่ได้พูดเกินจริงไปแม้แต่นิดเดียว เพราะนี่คือปัจจัยที่ Google ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการพิจารณาจัดอันดับ ถ้าเนื้อหาของคุณทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ย่อมมีโอกาสสูง ที่เว็บไซต์ของคุณจะถูกหยิบไปติดอันดับอยู่บนตำแหน่งสูง ๆ ในหน้า Google SERPs ดังนั้นหากคุณอยากประสบความสำเร็จในการทำ SEO คุณไม่อาจไม่เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ E-E-A-T Factor ได้เลย

ทำไม Google ถึงเพิ่มเกณฑ์มาอีก 1 เกณฑ์ จาก E-A-T เป็น E-E-A-T

เท้าความกันก่อน แต่เดิมเกณฑ์การพิจารณาคุณภาพเว็บไซต์ของ Google มีเพียง 3 ข้อเท่านั้น คือ  E-A-T (Expertise, Authoritativeness, and Trustworthiness) แต่ Google มองว่าประสบการณ์ (Experience) ของผู้เขียนหรือเจ้าของเว็บไซต์ก็มีความสำคัญต่อคุณภาพของคอนเทนต์เช่นกัน จึงเพิ่มประสบการณ์เข้ามาภาพหลังจากกลายมาเป็น EEAT นั่นเอง

(E-E-A-T Google Guideline << อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

E-E-A-T Factor

E-E-A-T Factor หรือปัจจัย EEAT คือ ?

E-E-A-T Factor ย่อมาจาก Experience, Expertise, Authoritativeness, and Trustworthiness เป็นเกณฑ์ที่ Google ใช้พิจารณาคุณภาพของคอนเทนต์บนเว็บไซต์ว่า ดีไหม ดีอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาจัดอันดับคอนเทนต์ของเว็บไซต์นั้น ๆ ที่จะไปแสดงผลบนหน้า SERPs หรือ Search Engine Results Page ดังนั้นหากคุณเป็นคนทำ SEO ที่อยากจะทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับดี ๆ ในหน้าแสดงผลของ Google คุณต้องทำคอนเทนต์ ที่เข้าเกณฑ์ ที่ Google กำหนดให้ได้นั่นเอง ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ประการมีรายละเอียดดังนี้

Experience (ประสบการณ์)

ประสบการณ์ของผู้เขียนหรือเจ้าของเว็บไซต์ ในด้านที่เขียนหรือทำเว็บไซต์นั้น ๆ กล่าวคือ ผู้เขียนหรือคนทำเว็บไซต์นั้น ๆ มีประสบการณ์ตรง หรือ เคยทำงานในด้านนั้น ๆ มาก่อนหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าเขียนบทความเกี่ยวกับการแพทย์ ผู้เขียนเป็นแพทย์หรือเคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์มาก่อนหรือไม่
  • ถ้าเขียนบทความเกี่ยวกับพาเที่ยว ผู้เขียนเคยไปมาแล้วจริงหรือไม่ หรือทำงานเป็นอาชีพไกด์มาก่อนหรือเปล่า

ซึ่งการแสดงให้ Google เห็นว่าเรามีประสบการณ์ด้านนั้นจริง ๆ อาจสามารถทำได้โดย การใส่โปรไฟล์ส่วนตัวของผู้เขียน โชว์ผลงานที่ผ่านมา หรือ อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น เป็นต้น

Expertise (ความเชี่ยวชาญ)

ความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้เขียนหรือเจ้าของเว็บไซต์ ในด้านที่เขียนหรือทำเว็บไซต์นั้น ๆ กล่าวคือ ผู้เขียนหรือเจ้าของเว็บไซต์เป็นกูรู หรือ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเนื้อหาของคอนเทนต์นั้น ๆ หรือไม่ เว็บไซต์ที่มีค่า Expertise สูง ๆ มักจะเป็นเว็บที่มีคอนเทนต์ที่ถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานด้วยโครงสร้างเนื้อหาที่ดี ซึ่งเว็บเหล่านี้มักจะเป็นเว็บที่นำเสนอเนื้อหาไปในทางเฉพาะ และลงลึก (Niche) คือ ถ้าเป็นเว็บเกี่ยวกับการทำ Digital Marketing ก็เป็นเว็บที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการทำ Digital Marketing อย่างเดียวไปเลย เป็นต้น

การพิจารณ์ความเป็น Expertise ในสายตาของ Google สำหรับผู้เขียน เราอาจะนำเสนอประวัติการศึกษาหรือประสบการณ์การทำงานของเรา ผลงานที่ผ่านมา รางวัล หรือ รีวิวจากผู้ใช้งาน สำหรับเว็บไซต์ ควรที่จะนำเสนอเนื้อหาในทางเฉพาะ และ ลงลึก ให้คำตอบที่ครบถ้วนกับผู้ใช้งานได้ ผ่านทางการวางโครงสร้างเนื้อหาต่าง ๆ เช่นเว็บ Nohows.com ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ SEO , Marketing หากทำคอนเทนต์ให้ความรู้ในด้านนี้อย่างรอบด้าน ก็จะมีโอกาสสูงจะจะติดอันดับใน Keyword ในกลุ่มนี้ได้ง่าย แต่ถ้าเกิดผมเปลี่ยนไปลงคอนเทนต์เกี่ยวกับ รถยนต์ Google จะไม่เอาเว็บ Nohows.com ไปติดอันดับในกลุ่มรถยนต์ เพราะ Google มองว่าเว็บผมนี้เป็นเว็บที่เชี่ยวชาญในเรื่องของ SEO หรือ Marketing ไปแล้ว ประมาณนี้

Authoritativeness (ความมีอิทธิพล)

อิทธิพล หรือ อำนาจของผู้เขียนหรือเจ้าของเว็บไซต์ ในด้านที่เขียนหรือทำเว็บไซต์นั้น ๆ กล่าวคือ เมื่อเว็บไซต์ของคุณมีความเชี่ยวชาญ (Expertise) ในด้านที่ทำอยู่แล้ว สิ่งที่ตามมาก็จะเป็น อิทธิพล หรือ อำนาจ (Authoritativeness) ที่จะได้รับจาก การถูกกล่าวถึง การอ้างอิง จากเว็บไซต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช่ครับผมกำลังพูดถึง Backlink นั่นแหละครับ Authoritativeness เป็นเรื่องของ Backlink นั่นเองครับ

ดังนั้นหากเว็บหรือคอนเทนต์ของเราได้รับ การอ้างอิง (Backlink) หรือถูกเว็บหรือผู้คนกล่าวถึงมากเท่าไร ค่าความมีอิทธิพล (Authoritativeness) ก็จะสูงตามไปด้วย เพราะ Google จะมองว่า คอนเทนต์ของเราดี มีประโยชน์ คนอื่น ๆ ก็เลยใช้คอนเทนต์ของเราอ้างอิงบ่อย ๆ แล้วจะเอาคอนเทนต์นั้น ๆ ของเราไปติดอันดับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

Trustworthiness (ความน่าเชื่อถือ)

ความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์บนเว็บไซต์ Trustworthiness เป็นผลรวมของ Authoritativeness Expertise และ Experience ของเว็บไซต์ครับ การจะได้รับความน่าเชื่อถือ เว็บของเราจะขาดปัจจัยก่อน ๆ หน้านี้ไม่ได้เลย กล่าวคือ เมื่อเว็บไซต์ของคุณเขียนจากประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น มีคนเห็นว่ามีประโยชน์นำไปอ้างอิง เมื่อนั้นความน่าเชื่อถือถึงจะเกิดขึ้นมาได้ครับ  และนอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว ความสดใหม่ของคอนเทนต์ ความสม่ำเสมอ ความโปร่งใส และ ความเกี่ยวข้อง ยังส่งผลต่อการเพิ่ม Trustworthiness ไปจนถึงโอกาสได้การถูกพิจารณาไปติดอันดับสูง ๆ ใน SERPs อีกด้วย

E-E-A-T Factor

ตัวอย่างการให้คะแนนเว็บไซต์ตามเกณฑ์ E-E-A-T

Google ใช้หลาย ๆ ปัจจัยมาประกอบในการให้คะแนนเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ของเรา ตามเกณฑ์ E-E-A-T ซึ่งผมขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • หน้า เกี่ยวกับเรา (About us) มีหรือไม่บนเว็บไซต์ของเรา หรือ หน้าโปรไฟล์ของผู้ทำคอนเทนต์
  • Backlink จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ (มีค่าพวก DA DR สูง ๆ) ทั้งจากการอ้างอิง บทความ บทวิจาร ข่าวสาร เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ การได้ลิงก์อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถแสดงให้ Google เห็นว่าเว็บเรา มีความชำนาญ มีประสบการ และ เป็นเว็บที่น่าเชื่อได้
  • เนื้อหาภายในเว็บไซต์ อาทิเช่น บทความ รีวิวจากผู้ใช้งาน ความเห็น บทวิจารณ์ สามารถช่วยเพิ่มคะแนนความน่าเชื่อถือให้เว็บเราได้
  • วัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในทางใดทางหนึ่งหรือไม่
  • การแสดงออกถึงความชำนาญ มีประสบการณ์ ในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เว็บไซต์สอนทำ SEO ควรมีคอนเทนต์ SEO ที่ครอบครุมในหลาย ๆ หัวข้อ เป็นต้น

แนะนำเทคนิค วิธีปรับเว็บไซต์ให้เข้าเกณฑ์ E-E-A-T

  • หา Backlink ที่มีคุณภาพ

การหา Backlink เป็นวิธีที่ทรงพลังที่สุดในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ ยิ่งได้ Backlink ที่มีคุณภาพมากเท่าไร เว็บของคุณก็จะทรงพลังมากเท่านั้น ซึ่งการหา Backlink ที่ดีและมีคุณภาพ สามารถทำได้โดยการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ โดดเด่น และ มีความแตกต่าง อย่างต่อเนื่อง จนเว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวข้องให้ความสนใจ นำคอนเทนต์ของคุณไปพูดถึง แล้วให้ลิงก์อ้างอิงกลับมา

  • สร้าง Mention จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

ความน่าเชื่อถือในสายตา Google บางทีอาจจะมองว่าเป็นความมีชื่อเสียงของเว็บไซต์ก็ได้ เพราะอย่างนั้นยิ่งแบรนด์ของคุณถูกกล่าวถึงมากเท่าไรบนโลกอินเตอร์ ความน่าเชื่อถือของเว็บคุณในสายของ Google ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งวิธีการสร้าง Mention สามารถทำได้มากมายหลายวิธี อาทิเช่น การอาสาไปเขียนบทความบนเว็บอื่นที่เกี่ยวข้อง การไปเป็นแขกรับเชิญใน Podcast หรือ การไปจับมือกับอินฟูลเอนเซอร์ทำคอนเทนต์ เป็นต้น

  • อัพเดทเว็บไซต์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

เว็บไซต์จำเป็นต้องถูกอัพเดต ให้ทันต่อกาลเสมอ ข้อมูลควรเป็นปัจจุบันที่สุด โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ทำคอนเทนต์ที่เป็น เทรนดิ้ง ข่าว ถ้าหากข้อมูลมีการอัพเดต ก็ต้องเข้ามาปรับคอนเทนต์ให้เป็นข้อมูลใหม่เสมอ เพราะถ้าเก่า นั่นหมายถึงเว็บของคุณอาจจะให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงก็ได้

  • เรียกร้องรีวิวจากผู้ใช้งาน

รีวิวจากผู้ใช้งานเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มคะแนนตามเกณฑ์ของ EEAT ได้ ยิ่งถ้าคุณได้รีวิวเชิงบวกมาก ๆ Google ก็จะมองว่าเว็บคุณดี มีความน่าเชื่อถือ ในสายตาของผู้ใช้งาน

  • จับมือผู้เชี่ยวชาญมาสร้างเนื้อหา

ตามคำอธิบายขององค์ประกอบ E-E-A-T เนื้อหาที่มาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นอะไรที่ Google ชอบมาก ถ้าเราสามารถจับมือทำงานกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ ทนายความ เชฟ นักกีฬา ที่สามารถยืนยันได้ว่ามีชื่อเสียง มีความชำนาญในด้านนั้น ๆ ก็จะชวยเพิ่มคะแนนให้สูงขึ้นไปได้

  • อวดโปรไฟล์

ผู้เขียนเนื้อหาของเว็บไซต์ ควรแสดงข้อมูลส่วนตัวที่แสดงให้เห็นถึงความชำนาญ ประสบการณ์ ในเรื่องนั้น ๆ ที่เขียน ซึ่งอาจจะใช้พวก รางวัลที่เคยได้รับ ประสบการณ์การทำงาน การศึกษา ฯลฯ

  • ช่องทางการติดต่อ

การมีข้อมูลติดต่อที่ชัดเจน และมีอยู่จริง ในเว็บไซต์ จะช่วยให้ Google เห็นว่าเว็บของคุณหรือแบรนด์ของคุณ มีตัวตนอยู่จริง

  • Content marketing framework

การทำ Content marketing framework จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น

  • โปรโมตเว็บไซต์ไปแหล่งอื่น ๆ

เมื่อคุณทำคอนเทนต์ลงเว็บไซต์ ควรเอาคอนเทนต์นั้น ๆ ไปเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่น โซเชียล มีเดีย , เว็บบอร์ด หรือ ส่งอีเมล์ให้คนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหานั้น หรือ อาจจะทำเป็นแนว ๆ Content Pyramid ก็ได้ครับ

สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ E-E-A-T Factor

หลาย ๆ ครั้งผู้คนมักเข้าใจเกี่ยวกับ E-E-A-T Factor ครับ จากที่ผมเห็นมาบ่อย ๆ จะมี 3 ข้อดังต่อไปนี้

  1. E-E-A-T Factor สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงในการจัดอันดับ

หลาย ๆ คนมักจะคิดว่า E-E-A-T Factor ส่งผลต่อการจัดอันดับของ Google โดยตรง ถ้าทำคอนเทนต์ได้ตามเกณฑ์ของ E-E-A-T แล้ว เว็บต้องติดอันดับแน่นอน จริง ๆ ความเข้าใจนี้ผิดนะครับ E-E-A-T Factor มีความสำคัญครับ แต่ไม่ใช่ปัจจัยตรง ๆ ที่จะส่งผลต่อการจัดอันดับของ Google แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบมาก ๆ ที่ส่งผลต่อจัดอันดับ เช่น การทำ On Page / Off Page SEO , โครงสร้างเว็บไซต์ , ความเร็วของเว็บไซต์ , ประสิทธิภาพของเว็บไซต์ ฯลฯ

  1. E-E-A-T Factor ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ทันที

ผมอยากจะย้ำอีกครั้ง การสร้างเนื้อหาที่เข้าเกณฑ์ของ E-E-A-T มีความสำคัญ แต่การปรับให้ดีแล้วหรือเมื่อแก้ไขแล้ว ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์หรือความเปลี่ยนแปลงได้ในทันทีทันใด หรือ ในระยะเวลาสั้น ๆ จำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ Google เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาเว็บไซต์ของเรา ซึ่งเวลาที่ว่านี้ไม่อาจระบุชัดเจนได้ ทางที่ดีทำให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มสร้างเว็บไซต์เลยดีที่สุดครับ

  1. E-E-A-T Factor ไม่ใช่อัลกอริทึม

Google Algorithm คือ กลไกหรือกระบวนการที่ Google ใช้ในการกำหนดว่าเว็บไหนควรอยู่อันดับที่เท่าไร ซึ่งหลาย ๆ คยเข้าใจผิดว่า E-E-A-T เป็นหนึ่งในอัลกอริทึมของ Google ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่นะครับ E-E-A-T เป็นหลักเกณฑ์ หลักปฏิบัติ แนวทาง ที่ Google ให้ไว้ เพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ในสายตา Google จะต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร

E-E-A-T Factor

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่หลงเข้ามาเว็บนี้ น่าจะพอเข้าใจเรื่องของ E-E-A-T Factor กันบ้างแล้วเนอะ แต่ยังไงผมขอสรุปให้อีกรอบแล้วกันว่า EEAT คือ เกณฑ์ที่ Google ใช้พิจารณาคุณภาพของคอนเทนต์บนเว็บไซต์ว่า ดีไหม ดีอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน ซึ่งประกอบด้วยคำ 4 คำ คือ Experience, Expertise, Authoritativeness, and Trustworthiness ซึ่งเราจะใช้เป็นแนวทางในการทำเว็บไซต์ สร้างคอนเทนต์ เพื่อให้ Google ถูกใจเว็บของเรา โดยการปรับปรุงปัจจัย  E-E-A-T ไม่สามารถทำแล้วเห็นผลได้ทันที เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลา ซึ่งในระยะยาวสำหรับการทำ SEO ต้องบอกว่าคุ้มค่ามาก ๆ อย่างแน่นอนครับ และก็สุดท้ายของท้ายสุด จริง ๆ แล้ว เรื่องของ E-E-A-T Factor มักจะสัมพันธ์กับ คอนเทนต์ประเภท YMYL ซึ่งในบทความนี้ผมไม่ได้กล่าวไว้เลย ไปอ่านเนื้อหาว่า YMYL สัมพันธ์ยังไงกับ E-E-A-T Factor ได้ที่นี่เลย >> YMYL คืออะไร

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *