ทุก ๆ การค้นหา (Search) มีจุดเริ่มต้นมาจาก “เจตนา” ของผู้ค้นหาทั้งสิ้น ดังนั้นการทำคอนเทนต์ ที่ตอบโจทย์และตรงต่อเจตนานั้น ย่อมมอบประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีสุดให้กับผู้ค้นหาได้ รวมถึงในสายตาของผู้จัดอันดับการค้นหาอย่าง Google ด้วย นั่นคือเหตุผล ที่ทำไมเราต้องมาทำความเข้าใจเรื่อง Search Intent ในเนื้อหาของบทความนี้ จะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้ว่า Search Intent คืออะไร มีประเภทไหนบ้าง และเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา ผมขอหยุดการเวิ่นเว้อแต่เพียงนี้ ไปติดตามเนื้อหากันเลยดีกว่า
Search Intent คืออะไร
Search Intent หรือบางคนอาจจะเรียกว่า User Intent คือ เจตนาของผู้ใช้ หรือวัตถุประสงค์ของผู้ใชในการค้นหาข้อมูลบน Search Engine พูดให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือ เหตุผลในการค้นหา ผู้ค้นหาอยากได้คำตอบอะไร แบบไหน อย่างไร จากการค้นหา Keyword คำนั้น ๆ เช่น บางคนอาจอยากได้คำตอบที่สงสัย บางคนอยากอ่านรีวิว บางคนอยากดูรูปบางอย่าง หรือ บางคนอยากจะซื้อหรือขายอะไรบางอย่าง โดยหน้าที่ของคนทำคอนเทนต์ และ SEO คือ ต้องทำความเข้าใจกับ วัตถุประสงค์และเหตุผลนั้น ๆ ว่าผู้ค้นหาต้องการอะไร และ ทำเนื้อหา และ เลือกใช้ Keyword ให้ตอบโจทย์ความต้องการนั้นนั่นเอง
Search Intent สำคัญกับการทำ SEO อย่างไร
Google เคยกล่าวเอาไว้ว่า พันธกิจหลักของ Google คือ “การจัดระเบียบข้อมูลในโลกนี้และทำให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่และมีประโยชน์ต่อทุกคน” ดังนั้นการทำ SEO ให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับบน Google SERP (หน้าแสดงผลการค้นหาของ Google) ก็ต้องสอดคล้องกับ พันธกิจหลักของ Google เช่นกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ เราต้องทำคอนเทนต์ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีประโยชน์ ซึ่งการจะทำคอนเทนต์ให้ได้ตามนี้การเข้าใจ Search Intent จึงเป็นหัวใจหลักที่ไม่อาจไม่เข้าใจได้เลย
อีกทั้งหากเราดูจาก Guideline ล่าสุดของ Google จะเห็นได้ว่า Google มีการโฟกัสในเรื่องของ Search Intent ไม่น้อยเลย ดังนั้นหากเราอยากจะทำ SEO ให้เว็บไซต์ของเรา ถูก Google เลือกหยิบไปแสดงผลในอันดับต้น ๆ ตาม Keyword ที่กำหนด คอนเทนต์ที่เว็บเราทำก็ต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง (Relevant) และสอดคล้องกับ Keyword นั้น ๆ มากที่สุด และการจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจ Search Intent เป็นอันดับแรกนั่นเอง นี่ถือเป็นพื้นฐานและหัวจใจของการทำ SEO ยุคใหม่เลยครับ
4 ประเภท Search Intent มีแบบไหนบ้าง
Search Intent หรือ เจตนา ความต้องการ วัตถุประสงค์ เหตุผล ในการค้นหาตามหลักการสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทครับ ดังต่อไปนี้
1.Informational Intent
การค้นหาเพื่อหาข้อมูล เป็นการค้นหาเพื่อหาข้อมูลหรือความรู้ ผู้ค้นหาอาจต้องการทราบเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจหรือเพื่อนำไปใช้ต่อ
ตัวอย่างคำค้น :
- ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีทำอาหาร
- ประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา
- วิธีแก้อาการปวดหัว
ตัวอย่างวิธีวิเคราะห์ :
- มักใช้คำค้นหาแบบเปิดกว้าง เช่น “คืออะไร”, “ทำไม”, “อย่างไร” เป็นต้น
2.Navigational Intent
การค้นหาเพื่อหาทางไปเว็บไซต์ เป็นการค้นหาเพื่อไปยังเว็บไซต์หรือหน้าเว็บเฉพาะ ผู้ค้นหาอาจจำชื่อเว็บไซต์หรือหน้าเว็บนั้นไม่ได้ หรือต้องการไปยังหน้าเว็บนั้นโดยตรง
ตัวอย่างคำค้น :
- เว็บไซต์พันทิป
- หน้าแรก Google
- หน้าเว็บไซต์ของธนาคารไทยพาณิชย์
ตัวอย่างวิธีวิเคราะห์ :
- มักใช้ชื่อเว็บไซต์หรือหน้าเว็บเฉพาะ เช่น “พันทิป”, “Google”, “ธนาคารไทยพาณิชย์” เป็นต้น
3.Commercial Investigation Intent
การค้นหาตัวเลือกเพื่อตัดสินใจ เป็นการค้นหาเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ผู้ค้นหาอาจกำลังพิจารณาซื้อสินค้าหรือบริการบางอย่าง และต้องการเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ เช่น ราคา คุณสมบัติ รีวิว เป็นต้น
ตัวอย่างคำค้น :
- เปรียบเทียบราคาโทรศัพท์มือถือ
- รีวิวโรงแรมในกรุงเทพฯ
- เปรียบเทียบประกันรถยนต์
ตัวอย่างวิธีวิเคราะห์ :
- มักใช้คำค้นหาแบบเปรียบเทียบ เช่น “เปรียบเทียบ”, “รีวิว” เป็นต้น
4.Transactional Intent
การค้นหาเพื่อซื้อ เป็นการค้นหาเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ ผู้ค้นหาพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว และกำลังมองหาแหล่งจำหน่ายที่เหมาะสม
ตัวอย่างคำค้น :
- ซื้อรองเท้า Adidas
- จองตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่น
- สมัครบัตรเครดิต
ตัวอย่างวิธีวิเคราะห์ :
- มักใช้คำค้นหาที่บ่งบอกถึงความตั้งใจซื้อ เช่น “ซื้อ”, “จอง”, “สมัคร” เป็นต้น
แนะนำวิธีการหา Search Intent แบบง่าย ๆ
การจะหา Search Intent ในการทำ SEO ปกติเราจะทำควบคู่กันไปพร้อมกันกับกระบวนการทำ Keyword Research ครับ เพราะ Search Intent ไม่ใช่แค่ตัวกำหนดทิศทางในการทำคอนเทนต์อย่างเดียว แต่ยังเป็นตัวกำหนด Keyword ที่จะใช้สำหรับทำคอนเทนต์นั้น ๆ ด้วยครับ ซึ่งผมก็มีแนวทางในการหา Search Intent แบบง่าย ๆ มาแนะนำกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก : การรวบรวม Keyword
ให้เรารวบรวม Keyword ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะทำคอนเทนต์ก่อน โดย Keyword เหล่านี้สามารถหาได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น ลองไปส่องคู่แข่งทางธุรกิจว่าเขาใช้ Keyword อะไรบ้าง ใช้ Keyword Research Tool เช่น Ahrefs Mos Ubersuggest เป็นต้น หรือ ลองสังเกตพฤติกรรมการค้นหาของผู้ใช้ที่น่าจะเป็นเป้าหมายของเราก็ได้ครับ
ขั้นตอนสอง : การวิเคราะห์หา Search Intent และ รูปแบบคอนเทนต์
เมื่อเราได้ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ที่เราจะทำมาแล้วจำนวนหนึ่งจากขั้นตอนแรก ขั้นตอนถัดไปคือการวิเคราะห์ Search Intent ของ Keyword แต่ละคำ โดยให้เราวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
รูปแบบของคำค้นหา
ใช้ความเข้าใจในประเภทของ Search Intent มาแบ่ง Keyword แต่ละคำว่า เป็น Keyword ประเภทไหน โดยลักษณะของ Keyword มักจะบ่งบอกถึงเจตนาของผู้ใช้ในการค้นหาได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น คำค้นหาแบบเปิดกว้าง (Open-ended Keyword) เช่น “คืออะไร”, “ทำไม”, “อย่างไร” มักบ่งบอกถึง Search Intent ประเภท Informational Intent
- คำค้นหาแบบเจาะจง (Specific Keyword) เช่น “วิธีทำอาหาร”, “ประวัติของกรุงศรีอยุธยา” มักบ่งบอกถึง Search Intent ประเภท Informational Intent หรือ Navigational Intent
- คำค้นหาแบบเปรียบเทียบ (Comparative Keyword) เช่น “เปรียบเทียบราคาโทรศัพท์มือถือ”, “รีวิวโรงแรมในกรุงเทพฯ” มักบ่งบอกถึง Search Intent ประเภท Commercial Investigation Intent
- คำค้นหาแบบบอกให้ทำ (Actionable Keyword) เช่น “ซื้อรองเท้า Adidas”, “จองตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่น” มักบ่งบอกถึง Search Intent ประเภท Transactional Intent
บริบทของคำค้นหา
ให้ทำความเข้าใจกับบริบทของ Keyword นั้น ๆ ด้วยว่า เขาค้นหาคำนั้นเพราะเขาต้องการจะรู้อะไร อยากได้ประโยชน์อย่างไรจากคำ ๆ นั้น เช่น ถ้าคนค้นคำว่า “วิธีทำอาหาร” เขาอาจจะกำลังฝึกทำอาหารอยู่ เป็นต้น หรือ อาจจะลองพิจารณาจากบริบทการใช้งานด้วยก็ได้ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ค้นหาข้อมูล สถานที่ที่ใช้ค้นหาข้อมูล ช่วงเวลาที่ใช้ค้นหาข้อมูล อะไรแบบนี้ ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลต่อเจตนาของผู้ใช้ในการค้นหาได้ทั้งหมด
ตัวอย่าง
- ผู้ใช้ที่ค้นหาข้อมูลผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต อาจต้องการข้อมูลแบบรวดเร็วและทันท่วงที
- ผู้ใช้ที่ค้นหาข้อมูลจากสถานที่ทำงาน อาจต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
- ผู้ใช้ที่ค้นหาข้อมูลในช่วงวันหยุด อาจต้องการข้อมูลเพื่อความบันเทิง เป็นต้น
ลักษณะของผลการค้นหา (format)
ให้คุณลองตรวจสอบ ลักษณะของผลการค้นหา (format) ของคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ดู ทำได้โดยการเอา Keyword นั้นไปลองค้นหาดูใน Google แล้วดูว่า หน้าแสดงผล (SERP) นำเสนอเนื้อหามาแบบไหนเป็น บทความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือ สินค้า เป็นต้น ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะสามารถบ่งบองประเภทของ Search Intent ของ Keyword นั้น ๆ ได้ เช่น
- ผลการค้นหาที่เป็นบทความหรือวิดีโอ อาจบ่งบอกถึง Search Intent ประเภท Informational Intent
- ผลการค้นหาที่เป็นสินค้า อาจบ่งบอกถึง Search Intent ประเภท Transactional Intent
เรื่องของ ลักษณะของผลการค้นหา (format) นอกจากจะบอกเจตนาของ Keyword ได้แล้ว ยังเป็นแนวทางให้เราพิจารณาเลือกทำประเภทคอนเทนต์ได้อย่างเหมาะสมด้วย กล่าวคือ ถ้า Keyword นั้น ส่วนมากแสดงผลเป็น คลิปวิดีโอ เราก็ควรทำคอนเทนต์เป็น คลิปวิดีโอ เช่นกัน
ขั้นตอนสุดท้าย : สรุปผลการวิเคราะห์
ขั้นตอนสุดท้าย คือ สรุปผลการวิเคราะห์ Search Intent ของ Keyword แต่ละคำ ที่เราได้รวบรวมมา โดยสรุปเป็นประเภทของ Search Intent เพื่อให้เข้าใจเจตนาของผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูลต่อ Keyword นั้น ๆ และนำข้อมูลไปทำคอนเทนต์ต่อไป
ตัวอย่างการสรุปผลการวิเคราะห์
- Keyword : “วิธีทำอาหาร”
- รูปแบบของคำค้นหา : เป็นคำค้นหาแบบเปิดกว้าง
- บริบทของคำค้นหา : ต้องการทราบเกี่ยวกับวิธีทำอาหาร
- ลักษณะของผลการค้นหา : มักเป็นบทความหรือวิดีโอที่อธิบายขั้นตอนในการทำอาหาร
- ประเภทของ Search Intent : Informational Intent
จากข้อมูลข้างต้น ถ้าเราจะทำคอนเทนต์ Keyword “วิธีทำอาหาร” จะเห็นได้ว่าหากเราทำคอนเทนต์ที่เป็น คลิปวิดีโอหรือเป็นบทความ ที่อธิบายขั้นตอนการทำอาหาร แบบ Step By Step เสมือนจับมือทำ คนอ่านหรือดูเข้าใจง่าย ก็จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการ Search Intent ของผู้คนหาได้มากที่สุด
สรุปแล้วการทำความเข้าใจ Search Intent ก็คือ การทำความเข้าใจจุดประสงค์ในการค้นหาของผู้ใช้งานว่า เขาค้นคำนั้น ๆ เพื่อต้องการคำตอบแบบไหน อย่างไร เพื่อที่เราจะได้นำเสนอคอนเทนต์ของให้เราสอดคล้องและเกี่ยวข้องกับคำค้นนั้น ๆ แล้วตอบโจทย์ความต้องการของคนค้นได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนมีประโยชน์ทั้งต่อประสบการณ์การใช้งานของคนค้น และ ยังโดดเด่นในสายตาของ Google จนอาจจะหยิบเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ของเราไปแสดงผลในอันดับต้น ๆ ของ Google SERP ก็ได้