WordPress คืออะไร อาจจะเป็นคำถามที่คนทำ SEO หรือคนทำเว็บไซต์มือใหม่ สงสัยใคร่รู้กันแน่ ๆ เพราะหากคุณเป็นมือใหม่ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ชื่อของ WordPress น่าจะได้ยินกันบ่อย ๆ เลยแหละ เพราะนี่คือตัวช่วยในการทำเว็บไซต์ ที่โคตรจะง่าย สะดวกสบาย รวดเร็ว ครบถ้วน และ ให้ประสิทธิภาพที่ดีมากสำหรับการทำ SEO อีกต่างหาก ดังนั้นวันนี้ทางเรา Nohows.com ที่ไหน ๆ ก็ตั้งใจมาสอนการทำ SEO แบบครบ ๆ กันแล้ว ก็ขอพาไปทำความรู้จักกับวิธีการสร้างเว็บที่เหมาะกับการทำ SEO รวมถึง วิธีติดตั้ง WordPress แบบพอสังเขปกันด้วยเลย เอ้า!จะช้ากันอยู่ไยว่าแล้วไปเรียนรู้กันเลย
WordPress คืออะไร
WordPress คือ โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการสร้างเว็บไซต์แบบง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิคอย่างการเขียนโค้ด หรือ โปรแกรมมิ่ง ซึ่งในวงการเราจะเรียกกันว่าระบบ Content Management System หรือ CMS พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ โปรแกรมสำหรับสร้างเว็บไซต์ สำหรับคนที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ และ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรมก็ได้ ใช้งานง่ายมาก สามารถทำได้ทั้งการอัพบทความ รูปภาพ คลิปวีดีโอ รวมไปถึงการจัดการฐานข้อมูล และระบบสินค้า โดยไม่ต้องไปนั่งเขียนโค้ดให้เสียเวลาเลย ซึ่ง wordpress สามารถใช้งานได้ 2 แบบคือ WordPress.org และ WordPress.com ซึ่งมีความต่างกันดังนี้
ความแตกต่างของ WordPress.org และ WordPress.com
- org เป็นโปรแกรมหลักที่คนทำเว็บไซต์ส่วนมากนิยมใช้กัน เป็นโปรแกรม open-source ที่ใครก็สามารถสมัครใช้งานกันได้ฟรี ติดตั้ง Theme และ plug-in ได้อย่างอิสระ สามารถสร้างสรรค์เว็บไซต์ได้หลายรูปแบบ แต่ต้องเชื่อมฐานข้อมูล (Database) เองทั้งหมด ให้จำไว้ว่าถ้าหากเราพูดถึงการทำเว็บ WordPress ส่วนมากจะหมายถึง WordPress ประเภทนี้นะครับ
- com เป็นแพลตฟอร์มเว็บสำเร็จรูปสไตล์ Blog ที่ให้บริการการทำเว็บ Blog โดยไม่จำเป็นต้องมี Domain หรือ Host ก็สามารถทำเว็บไซต์ได้เลย พร้อมมีการอัพเดตแพลตฟอร์มให้ตลอดเวลาด้วย
ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ WordPress ทำเว็บไซต์
ข้อดีของ wordpress
1.รองรับการทำ SEO อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก
การใช้ wordpress ในการทำเว็บสำหรับทำ SEO เรียกได้ว่าเหมาะสมที่สุดของที่สุดแล้ว เพราะ จากพัฒนาการของ wordpress เติบโตและเคียงคู่กับการทำ SEO มาตลอด มี Plug-in ที่สนับสนุนการทำ SEO มากมาย จึงทำให้เว็บไซต์ที่สร้างจาก WordPress มักจะทำอันดับได้ดีกว่า เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นจากวิธีอื่น ๆ
2.ใช้งานง่าย แถมยังสมัครฟรี
คุณสามารถสมัครใช้งาน wordpress ได้แบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย รวมถึง Theme และ Plug-In ก็มีของฟรีให้ใช้งานเพียบ อีกทั้งอินเตอร์เฟสการใช้งานง่าย มีแถบเครื่องมือให้เลือกใช้สะดวก มือใหม่ไม่เคยใช้ก็เรียนรู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง coding ก็สามารถใช้งานได้เลย
3.มี Theme และ Plug-In ให้เลือกใช้มากมาย
มี theme และ Plug-In ที่เหมาะสมกับเนื้อหาเว็บไซต์แบบต่าง ๆ มากมาย จะเป็นเว็บขายสินค้าก็ดี เว็บแจ้งข่าวสาร เว็บบริษัท เว็บเน้นคลิป เน้นภาพ มี Plug-In ทั้งแบบฟรีและไม่ฟรี ให้ใช้มากมาย เรียกได้ว่าครบเครื่องสุด ๆ ไปเลยครับ
ข้อเสียของ wordpress
ข้อเสียของการสร้างเว็บไซต์ด้วย wordpress ก็มีเช่นกันครับ แต่บอกเลยว่าไม่มาก ถ้าเปรียบเทียบกับข้อดีแล้ว การเลือกใช้ wordpress ในการสร้างเว็บ ยังนับว่าคุ้มค่ามาก ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับประเภทเว็บไซต์ที่จะทำด้วยนะครับ เพราะข้อเสียใหญ่ ๆ อาจจะส่งผลร้ายแรงมากกับเว็บที่ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเป็นอย่างมาก
1.ความปลอดภัยของเว็บไซต์ security ต่ำ
ความปลอดภัยของเว็บไซต์ เป็นข้อเสียหลัก ๆ หนึ่งเดียวของ WordPress เลยครับ กล่าวคือ การสร้างเว็บด้วย wordpress อาจจะถูกแฮคง่ายครับ (ถ้าคุณไม่มี Plug-In ที่เกี่ยวกับ Security ซึ่งอาจจะต้องเสียเงินซื้อ) สาเหตุที่ wordpress มีความปลอดภัยค่อนข้างต่ำ เพราะหนึ่งคือ เป็น open-source ใครก็เข้ามาพัฒนาระบบได้ สองคือ ใช้กันมายาวนานจน เหล่าโปรแกรมเมอร์รู้โค้ดกันแบบทะลุปรุโปร่งแล้วครับ
ดังนั้นถ้าคุณต้องการจะทำเว็บไซต์ ที่ไม่ได้เรียกร้องความปลอดภัยสูง ๆ เช่น เว็บธนาคาร เว็บที่เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ หรือ เว็บที่เก็บข้อมูลทางการค้าอะไร ก็สบายใจได้ครับ ไม่มีปัญหาอะไร Plug-In Security ฟรี ทั่ว ๆ ไป สมควรช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่งครับ
สมัคร WordPress สร้างเว็บไซต์ ทำยังไง
ก่อนที่จะสมัครใช้งาน wordpress มี 2 สิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องมีก่อนเลยครับ คือ Domain และ Host ครับ
Domain
ก่อนที่คุณจะสร้างเว็บไซต์ คุณต้องไปหาซื้อ Domain หรือ ชื่อเว็บไซต์ของคุณก่อนเป็นอันดับแรกเลยครับ ซึ่ง Domain สามารถซื้อได้จากบริษัทรับจดโดเมนที่เชื่อถือได้ทั่ว ๆ ไปเลยครับ เช่น Hostatom , Z.com , Godaddy , Namecheap และอื่น ๆ อีกหลายบริษัท ที่ให้บริการอยู่ ซึ่งผมขอแนะนำวิธีการเลือกชื่อแบบพอสังเขปไว้หน่อยดังนี้ครับ
- ควรเป็นชื่อที่สั้น กระชับ ง่ายต่อการจดจำ
- ไม่ตั้งชื่อซ้ำหรือใกล้เคียงกับชื่อบริษัทใหญ่ หรือ แบรนด์ดังในตลาด
- สำหรับคนทำ seo ไม่ควรจดชื่อโดยเอาคีย์เวิร์ดมาจดเป็นชื่อเว็บตรง ๆ
- ตั้งชื่อเว็บที่สะกดง่าย ๆ คนสามารถอ่านและเช้าใจได้ง่าย
- ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษดีที่สุด
- เลือกใช้นามสกุลที่เป็นสากล ไม่แปลกเกินไป แนะนำให้ใช้ .com
Host
Host หรือ Server เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องมีในการสร้างเว็บไซต์ เพราะเป็นส่วนที่เอาไว้เก็บข้อมูล สร้างฐานข้อมูล รวมถึงโค้ดต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างเว็บไซต์ครับ การเลือกใช้ Host ที่ดีมีประสิทธิภาพ จะเป็นส่วนสำคัญในประสิทธิภาพของเว็บไซต์ด้วยครับ รวมถึงช่วยให้ได้เปรียบในการทำ SEO ด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นการเลือกจะใช้ Host ของเจ้าไหน ควรพิถีพิถันในการเลือกสักหน่อยครับ ซึ่งผมขอแนะนำไว้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- ถ้าคุณเป็นมือใหม่เลยในการทำเว็บ แบบเพิ่งหัดทำเลย และ เป็นเว็บที่เน้นให้คนไทยใช้งาน ผมแนะนำให้เลือกใช้ Host ที่เป็นผู้ให้บริการในไทย หรือ โดยคนไทย ก่อนครับ เพราะคุยกันรู้เรื่อง ติดต่อง่าย สะดวกกว่า เวลาที่มีปัญหา อีกทั้งตัวเครื่องเซิร์ฟเวอร์ยังอยู่ในประเทศไทย ทำให้รับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วด้วยครับ
- ถ้าเป็นเว็บส่วนตัว คิดว่าทราฟฟิกไม่ได้มากมายเท่าไร แนะนำให้ใช้เป็น Shared hosting ก็พอครับ ประหยัดเงินดีครับ
- เลือกขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้เหมาะสมกับเว็บไซต์ที่เราจะทำด้วยครับ ให้ลองประเมินเอาว่า เว็บเราน่าจะมีข้อมูลอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน เลือกขนาดความจุให้เพียงพอครับ ถ้ากะไม่ถูก มีมากดีกว่าขาดครับให้คิดแบบนี้ไว้ก่อน
- ลองหารีวิวในเรื่องของบริการหลังการขายอด้วยครับเช่น ถ้ามีปัญหาแก้ไขให้ไวมั้ย ถาม-ตอบ รวดเร็วหรือไม่ มีช่องทางให้ติดต่อสะดวกมั้ย อะไรแบบนี้
- ต้องมีราคาสมเหตุสมผลนะครับ ไม่แพงจนเกินไป หรือ ถูกจนผิดปกติเกินไปครับ
การสมัครและติดตั้งโปรแกรม wordpress
เมื่อคุณซื้อ Domain แล้ว มี Hosting แล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาของการสมัครและลงโปรแกรม (Install) WordPress แล้วครับ ซึ่งผมขอแนะนำวิธีแบบแมนนวลก่อนนะครับ
ขั้นตอนที่ 1 : ให้ไปดาวโหลดโปรแกรม wordpress มาก่อนครับ สามารถดาวโหลดได้จากลิงก์นี้ https://wordpress.org/download/ เมื่อเราโหลดมาแล้วจะได้ไฟล์ชื่อ WordPress .zip หรือ .tar.gz ครับ
ขั้นตอนที่ 2 : ให้เอาไฟล์ที่เราโหลดมาจากขั้นตอนที่ 1 (WordPress .zip หรือ .tar.gz ) ไปอัพโหลดขึ้นบน Hosting ที่เราสมัครใช้งานไว้ก่อนนี้ครับ ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 2 วิธีดังนี้
- อัพโหลดผ่านโปรแกรม FTP ครับเช่น WinSCP เป็นต้น
- อัพโหลดผ่านตัวจัดการ Hosting อย่าง Control Panel Hosting
ปล. เมื่อเราสมัครใช้งาน Hosting แล้ว เราจะได้ ip address ของ Host ของเรามาครับ ซึ่ง ip address ที่ได้มานี้แหละเป็นที่อยู่ที่เราเอาไว้ FTP เข้าไปหาตัว Host ครับ
ขั้นตอนที่ 3 : เมื่ออัพโหลดไฟล์ WordPress .zip หรือ .tar.gz ไปไว้บน Host แล้ว ให้ Exact File ออกมาครับ
ขั้นตอนที่ 4 : สร้าง MySQL Database และ Database User เพื่อใช้เป็นข้อมูลระหว่างการ Install WordPress ครับ ในส่วนของการจัดการ Host จะมีเมนูให้สร้างครับ
ขั้นตอนที่ 5 : ให้เปิดบราวเซอร์ขึ้นมา แล้วพิมพ์ Domain ของคุณในช่อง URLs ต่อด้วยประโยคดังเช่นตัวอย่างครับ www.domainname.com /wp-admin/install.php แล้วกด enter จะเข้าไปสู่หน้า Install WordPress เริ่มจากการเลือกภาษาครับ เลือกแล้วก็กดดำเนินงานต่อได้เลย
ขั้นตอนที่ 6 : จากนั้นก็จะไปที่หน้ากรอกรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ครับ ซึ่งจะมีรายละเอียดประมาณนี้
- Site Title : ให้ใส่ชื่อเว็บไซต์ของคุณ
- Username : ให้ตั้ง Username ที่ใช้ Login เข้า WordPress
- Password : ให้ตั้ง Password ที่ใช้ Login เข้า WordPress
- Your E-Mail : ใส่อีเมลของคุณ
- Privacy : ส่วนนี้จะเป็นการอนุญาตให้ Search Engine เข้ามาเก็บข้อมูลหรือไม่
คุณก็กรอกรายละเอียดของคุณไปได้เลย ตามรายละเอียดข้างต้นครับ กรอกเสร็จแล้วก็คลิก Install WordPress ได้เลย
ขั้นตอนที่ 7 : รอโปรแกรมติดตั้งสักครู่ ก็สามารถ Login เข้าไปใช้งาน WordPress กันได้เลย
และนี่คือวิธีการติดตั้ง WordPress แบบแมนนวลง่าย ๆ นะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีวิธีการติดตั้งที่ง่ายดายกว่านี้อีกครับ เพียงไม่กี่คลิกก็เป็นเว็บขึ้นมาแล้ว ซึ่งทำได้ผ่านระบบจัดการ Hosting อย่าง DirectAdmin, cPanel และ Plesk ซึ่งตรงส่วนนี้ผมขอแปะโป้งไว้ก่อน เดี๋ยวจะมาสอนทำกันในอีกบทความนึงครับ
สรุป
WordPress คืออะไร wordpress คือ โปรแกรมที่ใช้สำหรับการสร้างเว็บไซต์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของโค้ด แม้แต่น้อยเลย อีกทั้งเว็บไซต์ที่สร้างจาก wordpress ยังมีคุณสมบัติ ที่เหมาะและเป็นมิตรกับการทำ SEO เป็นอย่างมาก วิธีติดตั้ง wordpress ก็ทำได้ง่าย นับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนทำ SEO หากต้องจะทำเว็บไซต์เพื่อทำอันดับ ในบทความนี้เรา nohows.com ได้สอนการสร้างเว็บไซต์ด้วยโปรแกรม wordpress ไปแบบเบื้องต้นแล้ว ส่วนเรื่องของการใช้งาน wordpress ในโอกาสต่อ ๆ ไป จะมาแนะนำกันอีกครั้งครับ